มทร. อีสานโพล เผยประชาชนเห็นว่าเศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวช้าจากพิษโควิด-19 หวังให้รัฐบาลปรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชัดเพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผยว่า มทร.อีสาน โดยศูนย์บริการวิชาการด้านบริหารธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในหัวข้อ ความเชื่อมั่นของประชาชนกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยหลังโควิด 19 ซึ่งจากการสำรวจประชาชนจำนวน 482 คน ที่ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 10,001 – 30,000 บาท ไม่ค่อยพอใจกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ คิดเป็นร้อยละ 77.8 และมีความพอใจปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 22.2 ซึ่งจะเห็นได้ว่าประชาชนส่วนมากยังคงต้องการให้รัฐบาลมีการปรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ โดยประชาชน 38.2% ยังคงเห็นว่าประเทศไทยมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้า และอีก 27.2% คิดว่าเศรษฐกิจหดตัวนาน ไร้สัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยที่ส่งผลทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คิดว่ามาจากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ, การปรับ ครม. ใหม่, ความสามารถในการปรับตัวของภาคธุรกิจ และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เคร่งครัดของรัฐ ตามลำดับ ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วแต่ยังคงไม่เกิดผลที่ชัดเจนนั้น ประชาชน 19.1% เห็นว่าควรปรับมาตรการเยียวยาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายเป็นอันดับแรก อีกทั้ง 13.3% เห็นว่าต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักลงทุน รวมถึง 13.1% ควรมีมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องทางธุรกิจ SMEs และมาตรการส่งเสริมภาคการเกษตรและสินค้าชุมชน 11.1% ตามลำดับ
.
ผศ.ดร.วิโรจน์ ได้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนนั้นมีผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประชาชนถึงร้อยละ 93.8 โดยที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นในการนำเสนอข่าวจากสำนักข่าวออนไลน์เป็นหลัก รองลงมาคือข่าวจากโซเซียลมีเดียต่าง ๆ และช่องทางนำเสนอข่าวจากสื่อโทรทัศน์นั้นประชาชนกลับให้ความเชื่อมั่นน้อยที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันช่องทางการรับข่าวสารที่มีความหลากหลายส่งผลให้ประชาชนสามารถเลือกรับข่าวสารได้ด้วยตนเอง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์นั้นอาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นอย่างสูงสุด ซึ่งในส่วนของ มทร.อีสานเอง ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐก็ได้มีบทบาทที่จะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศด้วยเช่นกัน ทั้งในด้านของการบริการวิชาการด้านบริหารธุรกิจ การเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือกลุ่มธุรกิจ SMEs ในระดับภูมิภาคและประเทศ รวมถึงการลงพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น โดยนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อช่วยฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้ก้าวผ่านสถานการณ์ความยากลำบากนี้ไปได้ด้วยดี
.
จิตสุภา ประหา ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ มทร.อีสาน รายงาน