นักวิจัย มทร.ธัญบุรี โชว์ผลงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นพิมพ์สามมิติที่มีส่วนผสมของชีวมวล

ผศ ดร.อนินท์ มีมนต์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.ธัญบุรี) วิจัยเปิดเผยว่า โดยปกติเส้นพลาสติกที่ใช้กับเครื่องพิมพ์สามมิตินั้น เป็นพลาสติกกลุ่มเทอร์โมพลาสติก และชนิดที่นิยมใช้ในปัจจุบันได้แก่ อะคริโลไนไตรล์-บิวทาไดอีน-สไตรีน หรือ ABS และ พอลิแลกติก หรือ PLA ปัจจุบัน PLA จะนิยมใช้งานมากกว่า ABS เนื่องจาก ABS จะส่งกลิ่นรุนแรงมากกว่า อีกทั้งมีความหนืดที่น้อยกว่าส่งผลให้พิมพ์รูปร่างหรือรูปทรงซับซ้อนได้ไม่ดีเหมือนเส้นพลาสติกจาก PLA ด้วย PLA ถูกนำไปใช้งานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นเนื่องจากมีข้อดีด้านการย่อยสลายได้ด้วยกลไกทางธรรมชาติ สามารถช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกได้ แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างแพงจึงได้มีการศึกษาวิจัย คิดค้น นำเอาวัสดุชนิดอื่นมาผสมเป็นวัสดุ ซึ่งทีมงานวิจัยได้มีความสนใจศึกษาวิจัยในการนำข้าว ฟางข้าว แกลบ และเส้นใยจากใบสัปปะรด มาบดให้เป็นลักษณะผงละเอียดผสมกับ PLA เกรดที่ใช้สำหรับขึ้นรูปเป็นเส้นพลาสติกในงานพิมพ์สามมิติ เพื่อลดปริมาณการใช้ PLA ให้น้อยลง และปรับปรุงสมบัติให้เหมาะสมสำหรับการพิมพ์สามมิติที่กำลังได้รับความสนใจ และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพการพิมพ์ชิ้นงานให้ได้คุณภาพ สามารถพิมพ์ชิ้นงานที่พร้อมใช้งานตามการออกแบบ สามารถจับต้องได้ และนำไปใช้งานได้จริง จากการศึกษาวิจัย การนำเอาข้าว แกลบ ฟางข้าว และเส้นใยจากใบสัปปะรด ผสมกับ PLA และ PP รีไซเคิล แล้วนำไปขึ้นรูปเป็นเส้นพลาสติกสำหรับงานพิมพ์สามมิติ จะทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว วัสดุเหลือใช้จากขบวนการผลิตข้าว และเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่น ๆ ซึ่งแนวคิดนี้จะช่วยลดปริมาณการใช้ PLA ลง และส่งเสริมการนำเส้นใยธรรมชาติชนิดต่าง ๆ มาเพิ่มมูลค่านอกเหนือไปจากกระบวนการเผาทำลายทิ้งโดยไม่เกิดประโยชน์ โดยโครงการนี้เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากโครงการ Talent mobility ของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และร่วมศึกษาวิจัยกับบริษัทเพลนคลาส จำกัด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นพิมพ์สามมิติที่มีส่วนผสมของชีวมวลให้ สามารถใช้งานได้จริง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถจำหน่ายได้เชิงพาณิชย์ สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนินท์ มีมนต์ โทร 064-2935154