มทร.ธัญบุรี ผลิต “ผ้าใยกล้วยบัวหลวง” สู่สินค้าโอท็อปปทุมธานี ช่วยรักษ์โลก-ใส่สบาย-สร้างรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หัวหน้างานวิจัย ‘ผ้าใยกล้วยบัวหลวง” สินค้าโอท๊อป จังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า ผ้าใยกล้วยบัวหลวง เป็นงานวิจัยต่อเนื่องที่สร้างความยั่งยืนให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ณ ศูนย์ส่งเสริมอาชีพ วัดไก่เตี้ย จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันผ้าใยกล้วยบัวหลวงเป็นผ้าประจำจังหวัดปทุมธานี มีจุดเริ่มต้นจากการพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยการใช้นวัตกรรม : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) วิจัยการพัฒนาเส้นใยกล้วย ในงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ เนื่องจากต้นกล้วยหอมทองและต้นกล้วยน้ำว้าเหลือทิ้ง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต จำนวน 30,000 ตันต่อปี จึงนำกาบและก้านในกล้วยมาปั่นเป็นเส้นด้าย มีคุณสมบัติเด่นในด้านความแข็งแรงและเงามัน มีผิวสัมผัสและน้ำหนักเบา คล้ายผ้าขนสัตว์ ทำให้สวมใส่สบาย จึงนำมาต่อยอดทอเป็นผืนผ้าและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านแสงตะวัน และเข้ามาพัฒนาลวดลายของผ้าใยกล้วยอย่างต่อเนื่อง เช่น ผ้าใยกล้วยยกดอก ลวดลายหางไก่ หางไก่เตี้ย เนื่องด้วยทางศูนย์อยู่ภายใต้วัดไก่เตี้ย และพัฒนาเส้นดายให้แข็งแรง สามารถเป็นเส้นดายยืนได้อีกด้วย