CinemaCafe l Ma Rainey’s Black Bottom และ Man with a movie camera

#CinemaCafe l Ma Rainey’s Black Bottom (ผู้กำกับ George C. Wolfe, 2020) และ Man with a movie camera (dir. Dziga Vertov, 1929)
.
Ma Rainey’s Black Bottom (ผู้กำกับ George C. Wolfe, 2020) ภาพยนตร์ดราม่าดัดแปลงจากละครเวทีในชื่อเดียวกัน นำเสนอเรื่องราวของนักร้องสาวแห่งตำนานเพลงบลูสูคนแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ชาวผิวสี Ma Rainey (รับบทโดย Viola Davis) กับหนึ่งวันของการบันทึกเสียงในสตูดิโอที่ชิคาโก วงดนตรีของเธอประกอบด้วยนักเปียโน กีตาร์ มือเบส และนักทรัมเปต Levee Green (รับบทโดย Chadwick Boseman) ที่เป็นตัวละครหลักที่สร้างสีสันให้กับการบันทึกเสียงครั้งนี้ อากาศร้อนอบอ้าวของชิคาโกส่งผลต่อการบันทึกเสียงนี้อย่างไร มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในระหว่างการซ้อมการบันทึกเสียง ทำไม Ma Rainey จึงแสดงท่าทีปั้นปึ่งและยะโสกับผู้จัดการของเธอเอง การเกิดเป็นผิวสีส่งผลต่อชีวิตการเป็นนักร้องเพลงบลูส์อย่างไร ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายที่ Chadwick Boseman ได้ฝากฝีไม้ลายมือไว้ให้กับวงการภาพยนตร์โลก
.
Man with a movie camera (dir. Dziga Vertov, 1929) ภาพยนตร์สารคดีของรัสเซีย ในยุคภาพยนตร์เงียบ เป็นภาพยนตร์ที่มีแนวทางทันสมัยแปลกใหม่ (Avant-gard) โดยใช้วิธีการทดลองนำเสนอแปลกใหม่ จัดได้ว่าเป็นภาพยนตร์แนวทดลอง (Experimental Film) โดยภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยการประกาศข้อจำกัด คือ สื่อสารโดยไม่ใช้คำบรรยาย (Communication without intertitle) สื่อสารโดยไม่มีบทภาพยนตร์ (Communication without the help of a scenario) สื่อสารโดยไม่มีการแสดง (Communication without help of theater) ทีมงานหลัก 3 คน ประกอบด้วย ผู้กำกับ และ ตากล้อง Dziga Vertov, ตากล้อง Mikhail Kaufman ซึ่งเป็นน้องของ Vertov และเป็นคนที่เดินถือกล้องถ่ายภาพยนตร์เดินทางตลอดทั้งเรื่อง, และ Yelizaveta Svilova ภรรยาของ Vertov เป็นคนตัดต่อ ภาพยนตร์จะนำเสนอความทันสมัยของรัสเซีย ผ่านการเดินทางของชายหนุ่มที่เดินแบกกล้องถ่ายภาพยนตร์ไปตามสถานที่ต่างๆ ผู้ดูจะได้ดู ภาพผู้คนหลากหลายชนชั้น โรงงานอุตสาหกรรม จนถึงชายหาด การทำงาน และการพักผ่อน Man with a movie camera มีการใช้เทคนิคทางภาพยนตร์อย่างมากมาย เช่น การซ้อนภาพ (Double Exposure) การเร่งความเร็ว (Fast motion) การลดความเร็ว (Slow motion) การแบ่งภาพ (Split screen) และอีกมากมาย ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการนำเสนอภาพยนตร์สารคดีในรูปแบบที่แปลกใหม่ และยังมีอิทธิพลต่อการสร้างภาพยนตร์ในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์ฝรั่งเศสคลื่นลูกใหม่ (French new wave) ในทศวรรษที่ 60 อีกด้วย
.
ดำเนินรายการโดย ดร.ภัสสร สังข์ศรี และ พลอย ศรีสุโร
.
ออกอากาศ[ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ] ติดตามรับฟังได้ทาง #วิทยุราชมงคลธัญบุรี #RmuttRadio