ชีวิตวัฒนธรรม – สืบที่มาของกาละแม ภูมิปัญญาขนมไทย

ชีวิตวัฒนธรรม – สืบที่มาของกาละแม ภูมิปัญญาขนมไทย
.
กาละแมเป็นขนมไทยโบราณ จัดเป็นขนมประเภทกวนมีวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยาก สามารถใช้วัตถุดิบ ที่หาได้ในท้องถิ่น กาละแมเมื่อกวนเสร็จแล้วจะมีลักษณะเป็นแป้งเหนียวสีน้ำตาลอมดำ มีรสชาติหอมหวานและอร่อยสามารถเก็บไว้ได้นาน รสชาติของกาละแมที่นิยมมากมีหลายรสด้วยกัน อาทิ กาแฟ ขนม และใบเตย
.
กาละแมเป็นขนมหนึ่งในสามที่นิยมทำช่วงปีใหม่ไทย(วันสงกรานต์)และงานพิธีต่างๆ เช่น งานอุปสมบทและงานแต่งงาน ซึ่งก่อนถึงวันงานประมาณ 2-3 วัน เจ้าภาพจะบอกกล่าวเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันมาช่วยกวนขนมกาละแมเพื่อใช้ในงาน เช่น ใส่ขันหมากและการเซ่นตายาย(ไหว้บรรพบุรุษ) ในพิธีแต่งงานนิยมใช้ขนมกาละแมเพราะเชื่อว่าเนื้อขนมกะละแมมีความเหนียวต้องใช้เวลาในการกวน เสมือนคู่สมรสที่ต้องอาศัยความรัก ความอดทน ร่วมแรงร่วมใจจึงจะทำให้ความรักเหนียวแน่น สำหรับงานอุปสมบทนิยมใช้ขนมกาละแม เป็นของหวานสำหรับเลี้ยงพระและแขกที่ไปร่วมงาน
.
กาละแมจัดเป็นขนมไทยที่ขึ้นชื่อ(มีชื่อเสียง)ประจำจังหวัดพัทลุง เป็นขนมที่ดัดแปลง มาจาก”ยาหนม”ซึ่งเป็นขนมพื้นเมืองของคนภาคใต้ นิยมทำกันมากที่บ้านนางลาด อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวจังหวัดพัทลุง ทำจากข้าวเหนียวที่โม่อย่างละเอียดผสมน้ำกะทิ น้ำผึ้งเหลว(น้ำตาลโตนด) การทำต้องเคี่ยวน้ำผึ้งกับน้ำกะทิจนเกือบแห้ง จึงใส่แป้งแล้วกวนในกระทะใบบัว ใช้ไม้พายกวนด้วย (ไม้พายด้ามเป็นไม้เนื้อแข็ง ตรงปลายใช้เหล็กแบน)การกวนต้องกวนให้แห้งมีน้ำมันออกจากขนม ขนมจะล่อนกลิ้งเป็นมันไม่ติดกระทะ จึงตักใส่ถาดสามารถเก็บไว้ได้นานไม่เสียรสชาติ เมื่อต้องการจะรับประทานก็ต้องตัดจากถาด เป็นชิ้นยาวๆ จึงไม่ค่อยสวยงาม และไม่สะดวกในการรับประทาน
.
หาความรู้กับ อาจารย์พนอ ธรรมเนียมอินทร์ ผู้ดำเนินรายการชีวิตวัฒนธรรม
ทุกวันเสาร์ 4.30 – 5.00 น. ทาง FM 89.5 MHz