กลุ่มนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ราชมงคลธัญบุรี ออกแบบและสร้างเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ขึ้นรูปช็อกโกแลต ต่อยอดเพื่อการสร้างสรรค์ สำหรับวงการอาหาร


นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นายสราวุธ ทามี, นายณัฐดนัย สุขมิ่ง, น.ส.นัทธิชา ฟักทองอ่อน และ น.ส.สุกันยา มีศาลา ร่วมกันออกแบบและสร้างเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สำหรับพิมพ์ขึ้นรูปช็อกโกแลตด้วยเทคนิคขึ้นรูปแบบฉีดหรือโรยเรียงเป็นชั้น โดยมี ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มทร.ธัญบุรี เป็นที่ปรึกษาโครงงาน //สราวุธ กล่าวถึงการออกแบบและสร้างเครื่องพิมพ์ช็อกโกแลตสามมิติ เริ่มจากการศึกษากระบวนการขึ้นรูปช็อกโกแลต ซึ่งการผลิตแบบเดิมใช้วิธีหล่อขึ้นรูปจึงต้องมีแบบพิมพ์ แต่การทำแบบพิมพ์มีมูลค่าสูงและต้องผลิตหลายชิ้นจึงจะคุ้มค่ากับต้นทุน จึงร่วมกันออกแบบและสร้างเครื่องพิมพ์ช็อกโกแลต 3 มิติ เพื่อลดค่าใช้จ่ายการทำแบบพิมพ์ สามารถขึ้นรูปทรงที่ซับซ้อนและเป็นเอกลักษณ์ได้เมื่อเทียบกับการผลิตแบบเดิม ด้าน ดร.กุลชาติ กล่าวว่า ประโยชน์และข้อดีของโครงงานวิศวกรรมเครื่องพิมพ์ช็อกโกแลต 3 มิติต้นแบบนี้ จะช่วยต่อยอดวงการอาหาร รวมถึงผู้ประกอบการเบเกอรี่ให้สามารถออกแบบชิ้นงานที่พิเศษหรือมีความเฉพาะตามที่ต้องการได้ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเบเกอรี่ได้ ขณะเดียวกันยังลดระยะเวลาทำงานและลดใช้แรงงานคน โดยเครื่องพิมพ์ช็อกโกแลต 3 มิติต้นแบบนี้ใช้งบประมาณทั้งหมด 30,000 บาท แต่หากได้พัฒนาสู่เชิงพาณิชย์เชื่อว่าต้นทุนผลิตจะต่ำลงกว่านี้ และจะช่วยลดการนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติจากต่างประเทศได้สำหรับผู้ที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามโดยตรงได้ที่ 086 628 9294