ราชมงคลล้านนา เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการวิจัย “ต้นแบบชุมชนอัจฉริยะพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า”

องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแยง ร่วมกับ คณะผู้วิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จากคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ ร่วมจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การพัฒนาต้นแบบชุมชนอัจฉริยะบนฐานทุนทางสังคม พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา – คอกม้า” ระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม 2563 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแยง ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
.
โดย คณะนักวิจัยมทร.ล้านนา ได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การพัฒนาต้นแบบชุมชนอัจฉริยะบนฐานทุนทางสังคม ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลฯ การใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ ระดมความคิด วิเคราะห์ทุนทางสังคมในพื้นที่ และการพัฒนาศักยภาพ ต่อยอดทุนทางสังคม เพื่อการพัฒนาต้นแบบของชุมชนในพื้นที่ ในด้านผู้นำอัจฉริยะ ผู้ประกอบการท้องถิ่นอัจฉริยะ ผู้สูงอายุอัจฉริยะ และเยาวชนอัจฉริยะ
.
อ.ยุรธร จีนา อาจารย์กลุ่มวิชาสังคมและมนุษยศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปะศาสตร์ มทร.ล้านนา หนึ่งในคณะนักวิจัยเปิดเผยว่า “การลงพื้นที่ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อพัฒนาชุมชนอัจฉริยะและสร้างพื้นที่ทำงานร่วมของชุมชนโดยรอบพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา – คอกม้า ผ่านการบูรณาการการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน และเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อน โครงการวิจัยย่อยต่างๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างพื้นที่ทำงานร่วม หรือ Co-working Space ในบริเวณพื้นที่นี้ ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลและเป็นต้นแบบการพัฒนาสำหรับพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งอื่น ๆ ต่อไป”
.
พื้นที่สงวนชีวมณฑล คือ พื้นที่ทดลองเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกับ ธรรมชาติอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ภายใต้หลักการสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยส่งเสริมให้ ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งในประเทศไทยมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลด้วยกัน 4 แห่ง คือ แม่สา – คอกม้า จ.เชียงใหม่ สะแกราช จ.นครราชสีมา สวนสัก-ห้วยทาก จ.ลำปาง และป่าชายเลนระนอง จ.ระนอง
.
ธริษตรี ธนรัตนพิมลกุล วิทยุราชมงคลล้านนา รายงาน