นักศึกษาปริญญาโท มทร.ธัญบุรี คิดค้นแผ่นรองพรมรักษ์โลกจากพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ลดปัญหาขยะพลาสติก คว้าเหรียญทองจากประเทศเกาหลีใต้


น.ส.ประภัสสร วันนิจ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คิดค้นแผ่นรองพรมรักษ์โลกจากพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ลดปัญหาขยะพลาสติก โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด ดร.วีราภรณ์ ผิวสอาด คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผลงานนี้คว้าเหรียญทอง ในงาน “โซล อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวนชั่น แฟร์ 2018” ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ น.ส.ประภัสสร เปิดเผยว่า พรมปูพื้นในปัจจุบันทำจากพลาสติกจำพวกพอลิโพรไพลีน หรือพอลิเอสเตอร์ ประเภทพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต ซึ่งพลาสติกเหล่านี้ไม่ย่อยสลาย และจากปริมาณการผลิตพรมในประเทศไทยมีมากกว่า 4,000 ตันต่อปี ดังนั้นปริมาณของขยะพลาสติกที่เกิดจากพรมในแต่ละปีจึงมีจำนวนไม่น้อยไปกว่าปริมาณการผลิต เนื่องจากอายุการใช้งานของพรมอยู่ระหว่าง 2-5 ปี ขยะพลาสติกจากพรมจึงเป็นปัญหาต่อการกำจัด งานวิจัยได้ศึกษาการประยุกต์เทคโนโลยีการใช้พอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อผลิตชิ้นส่วนของพรม และศึกษากระบวนการขึ้นรูปที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ากระบวนการแบบเดิมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสมบัติที่ดีกว่าเดิม โดยศึกษากระบวนการขึ้นรูปผ้าไม่ถักไม่ทอแบบใหม่คือ Melt jet spinning หรือ Cotton candy method เป็นกระบวนการขึ้นรูปผ้าไม่ถักไม่ทอที่สามารถผลิตเส้นใยที่มีขนาดเล็กได้ในระดับไมโครเมตร ผลิตเส้นใยได้ในประมาณมาก ไม่ต้องใช้แรงดันไฟฟ้าสูงในกระบวนการ ทำให้ประหยัดพลังงานและได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความนุ่มมากขึ้นและมีสมบัติเชิงกลที่ดีขึ้น