มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ส่ง “หุ่นยนต์ชนะภัย” ร่วมปฏิบัติหน้าที่ฆ่าเชื้อโควิด -19 ณ สถานที่กักตัวในจังหวัดขอนแก่น

สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อช่วงต้นเดือน เมษายน 2564 มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้รับการประสานงานจากสถานประกอบการ โรงแรมลาวิลล่า ซึ่งจัดให้เป็นสถานที่กักตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยง จำนวน 38 คน จนกระทั่งและได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงพยาบาลต้นสังกัดในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
.
จากการประสานงานดังกล่าว อาจารย์อภิศักดิ์ หาญพิชาญชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จึงได้ให้การช่วยเหลือโดยการมอบหมายให้นักศึกษานำผลงานซึ่งเป็นนวัตกรรมของนักศึกษาที่ประดิษฐ์ในการเรียน เรื่อง รถขนส่งอุปกรณ์ระบบอัตโนมัติภายในโรงฝึกงาน เข้าช่วยเหลืองานด้านความสะอาดในสถานที่กักตัว โดยได้นำหุ่นยนต์ดังกล่าวมาติดตั้งบนรถเข็นเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการทำความสะอาดของแม่บ้านประจำสถานที่กักตัว โดยจะสามารถเคลื่อนย้ายไปทำความสะอาดยังห้องต่างๆ ได้อย่างสะดวกขึ้น โดยหุ่นยนต์ชนะภัย จะใช้แสง UV-C ในการฆ่าเชื้อโรคจากติดตั้งหลอด UV- C จำนวน 10 หลอด โดยแม่บ้านสามารถเข็นรถไปยังห้องพักภายในโรงแรม และเปิดไฟให้สว่างประมาณ 10-15 นาที ต่อห้องเพื่อเป็นการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค ห้องพักที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ระหว่างกักตัว ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ทำงานเพื่อฆ่าเชื้อนั้นจะเน้นเรื่องของความสะอาด ปลอดภัยทั้งสถานที่ และประหยัดเวลาทำงานบุคลากรได้เป็นอย่างดี
สำหรับ หุ่นยนต์ชนะภัย เป็นผลงานของนายกันตายศ คานาการัทนัม, นายณัฐนคร รัฐโอบอุ้ม และนางสาวจุฑารัตน์ วินทะไชย นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา ได้แก่ อาจารย์ ดร.ทศพล แจ้งน้อย อาจารย์ ดร.ปฐมาภรณ์ ชัยกูล อาจารย์ ดร.พิศาล มูลอำคา และอาจารย์ปานทอง สร้อยมุข คอยให้คำแนะนำ
.
นับว่านี้เป็นอีกหนึ่งผลงานของนักศึกษาในรั้ว มทร.อีสาน ที่เกิดจากการศึกษา การเก็บข้อมูล การได้ทดลองปฏิบัติจริง นำไปสู่กการสร้างนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง จากนักศึกษา มทร.อีสาน ซึ่งมีอัตลักษณ์ เป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ โดยชาวมทร.อีสาน ขอเอาใจช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเร็ววันนี้ เราจะผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกัน
.
วราภรณ์ นามบุตร งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ มทร.อีสาน รายงาน