มทร.อีสาน ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาและอีก 6 หน่วยงาน มุ่งผลักดันพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนสู่ยูเนสโก

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์ค (Geopark) หรืออุทยานธรณีโคราช สู่จีโอพาร์คโลกยูเนสโก ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และสมาคมโคราชจีโอพาร์คและฟอสซิล ณ ห้องประชุมนางสาวบุญเหลือ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
.
สำหรับการลงนามความร่วมมือนี้ ทางจังหวัดนครราชสีมา มุ่งผลักดันให้ทุกหน่วยงานร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนการอนุรักษ์ การศึกษา และการพัฒนามรดกทางธรณีวิทยา ธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นของอุทยานธรณี โดยการมีส่วนร่วมจากชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอำเภอในพื้นที่อุทยานธรณีโคราช ซึ่งจะบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยให้เครือข่ายร่วมสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมหรือการดำเนินการตามบทบาทภารกิจที่มี และมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการและได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว เป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อการขับเคลื่อนอุทยานธรณีโคราชสู่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ในส่วนของอุทยานธรณีโคราชนั้น ประกอบด้วยพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ รวม 3,243 ตารางกิโลเมตร มีความโดดเด่นด้านธรณีวิทยา เช่น หินประเภทต่างๆ ภูเขา หน้าผา น้ำตก ซากดึกดำบรรพ์ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางเชิงวัฒนธรรม สินค้าชุมชน เป็นต้น หากอุทยานธรณีโคราชได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีโลก ไทยก็จะเป็นประเทศที่ 3 ที่มีรูปแบบการอนุรักษ์ของ UNESCO ครบทั้ง 3 โปรแกรมในพื้นที่เดียวกัน หรือ UNESCO triple crowns และนำไปสู่คุณค่าระดับผู้นำของโลกในลักษณะของดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก ในอนาคต
.
วราภรณ์ นามบุตร งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ มทร.อีสาน รายงาน