มทร.สุวรรณภูมิ เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เดชา พลเสน คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.สุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth) ของประเทศ มีเป้าหมายการผลิตและการใช้ EV ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศด้วย และนอกจากมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาวิชาชีพ ภายใต้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โดยมีการจัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองนโยบายตามรัฐบาล ไทยแลนด์ ๔.๐ ซึ่งเป็นโมเดลพัฒนา เศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value – Based Economy หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
.
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวิทย์ วงษ์ยืน ผู้รับผิดชอบโครงการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ จนก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของบุคลากรด้านยานยนต์ให้มีความพร้อมด้านทักษะและความสามารถรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าว สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ศูนย์นนทบุรี จึงได้จัดโครงการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดให้กับบุคลากรทั่วไปที่สนใจ เป็นโครงการบริการทางวิชาการแบบหารายได้ตามแผนพัฒนาและหารายได้ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีทักษะการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด และผู้ผ่านการอบรมสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้จากการอบรมไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างแท้จริง
.
ธนัชพร ปานเนาว์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ รายงาน