มทร.ธัญบุรี คิดค้นนวัตกรรม “หน้ากากผ้าเปลี่ยนสีเมื่ออุณหภูมิสูง” และ “หมวกเดินป่า”

RMUT TALK l มทร.ธัญบุรี คิดค้นนวัตกรรม “หน้ากากผ้าเปลี่ยนสีเมื่ออุณหภูมิสูง” และ “หมวกเดินป่า”
.
สัมภาษณ์ ดร.นารีรัตน์ จริยะปัญญา รองหัวหน้าภาควิชาฝ่ายพัฒนานักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี
.
“นวัตกรรมหน้ากากผ้าเปลี่ยนสีเมื่ออุณหภูมิสูง ป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยแสดงผลเมื่อผู้สวมใส่มีอุณหภูมิสูง ด้วยการเปลี่ยนสีของสารเทอร์โมโครมิก เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและสามารถช่วยตรวจสอบในเบื้องต้นได้ว่าผู้สวมใส่มีอาการป่วยหรือมีอุณภูมิร่างกายสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียสหรือไม่ โดยสารเทอร์โมโครมิกมีความสามารถในการเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิที่กำหนด ซึ่งการทดสอบครั้งนี้ได้กำหนดให้การเปลี่ยนสีมี 3 อุณหภูมิจุดวิกฤตหรือ Melting point ประกอบไปด้วย สีน้ำตาลที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส สีดำที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส และสีน้ำเงินที่อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส
.
จากการทดสอบการเปลี่ยนสีเทอร์โมโครมิกในเบื้องต้นได้นำแถบยางยืดชนิดเดียวกันมาย้อมสารเทอร์โมโครมิกและทดสอบการเปลี่ยนสีในช่วงอุณหภูมิ 35 – 38.5 องศาเซลเซียส ปรากฏว่าสารเทอร์โมโครมิกที่นำมาตกแต่งนั้นสีน้ำเงินมีอุณหภูมิการเปลี่ยนสีได้ใกล้เคียงกับความต้องการนำไปใช้งานที่ 37.5 องศาเซลเซียส จะมีการเปลี่ยนสีซึ่งเหมือนอุณหภูมิเริ่มต้นของผู้ที่มีอาการไข้ จึงนำสารสารเทอร์โมโครมิกสีน้ำเงินดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้บนผ้าและแถบยางยืด พร้อมกับออกแบบหน้ากากผ้าที่เหมาะสมที่มีลักษณะเป็น 3D
.
หน้ากากผ้าที่ทีมวิจัยต้องการพัฒนาควบคู่กับการประยุกต์ใช้สารเทอร์โมโครมิกประกอบด้วย หน้ากากผ้าชั้นนอก มีประสิทธิภาพ สะท้อนน้ำ ป้องกันแบคทีเรีย หายใจได้สะดวก ที่สำคัญยังป้องกันไฟฟ้าสถิตย์ได้ด้วยการใส่เส้นใยที่มีส่วนผสมของคาร์บอนไฟเบอร์ ส่วนผ้าชั้นใน เป็นผ้าฝ้าย 100% ไม่ตกแต่งสารเพื่อป้องกันการระคายเคืองบนผิวหนัง ขณะที่แถบยางยืดใช้ตกแต่งสารเทอร์โมโครมิก เนื่องจากแถบยางยืด เป็นส่วนที่แนบติดกับผิวหนังจึงสามารถสัมผัสอุณหภูมิความร้อนบริเวณใบหน้าได้เป็นอย่างดี และชิ้นส่วนของผ้าที่ตกแต่งสารเทอร์โมโครมิกนั้นได้ออกแบบมาเพื่อที่สัมผัสอุณหภูมิบนผิวหน้าให้ได้มากที่สุด
.
“นวัตกรรมหมวกเดินป่า” โดยประยุกต์ใช้คุณสมบัติการเปลี่ยนสีและการเรืองแสงในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพื่อเพิ่ม 4 คุณสมบัติพิเศษแก่ผู้สวมใส่ ทั้งเรืองแสง-ตรวจจับอุณหภูมิ-กันฝน-กันเชื้อราและแบคทีเรีย
“นวัตกรรมหมวกเดินป่าที่ได้พัฒนาขึ้นนี้ มี 4 ฟังก์ชั่นการใช้งานด้วยกันคือ
1. สามารถเรืองแสงในที่มืด ด้วยการตกแต่งสารพิเศษที่เรียกว่า ฟอสฟอเรสเซนต์ ซึ่งมีประโยชน์ในกิจกรรมในช่วงกลางคืน หากสวมใส่เป็นกลุ่ม/หมู่คณะ จะสามารถระบุความเป็นกลุ่มในเบื้องต้นได้ ช่วยป้องกันการพลัดหลง และเพิ่มการมองเห็นในที่มืด
2. ตรวจจับอุณหภูมิบริเวณโดยรอบศีรษะ ด้วยการตกแต่งสารพิเศษ คือ เทอร์โมโครมิก กรณีอยู่ในที่ร่มจะแจ้งกับผู้สวมใส่ว่ามีอุณหภูมิสูง โดยสังเกตได้จากการเปลี่ยนสีนั่นเอง
3. เพิ่มคุณสมบัติการสะท้อนน้ำบนตัวหมวกด้านนอก ด้วยการเคลือบสารสะท้อนน้ำ เพื่อป้องกันการเปียกของหมวกและป้องกันสิ่งสกปรก
4. เพิ่มคุณสมบัติการต้านแบคทีเรียบริเวณด้านในของหมวก เพื่อป้องกันแบคทีเรียและเชื้อราได้ ซึ่งช่วยขจัดกลิ่นอับ เพื่อสุขอนามัยของผู้สวมใส่
.
ผลงานนวัตกรรมดังกล่าวนี้ เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาต่อไปได้
ผู้สนใจสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิศวกรรมการจัดการผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โทร.02 549 3450
.

รับฟังรายการได้ทาง FM 89.5 MHz วิทยุราชมงคลธัญบุรี
ออกอากาศ วันที่ 5 ธันวาคม 2565
เวลา 14.00 – 14.30 น.
ผู้ดำเนินรายการ อาทิตยา ปักกะทานัง

popular posts