มทร.ธัญบุรี ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มทอผ้าชุมชน “บ้านหนองโกวิทย์” จ.สระแก้ว

“บ้านหนองโกวิทย์” กลุ่มทอผ้าชุมชนอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้วยกี่กระตุกโบราณ ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยยึดการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่น บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างลงตัวของชาวบ้านในพื้นที่ ต.เขาสามสิบ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยเอกลักษณ์การทอที่โดดเด่นเฉพาะตัว จนแตกต่างจากพื้นที่อื่นชัดเจน กระทั่งได้พัฒนาการผลิตเส้นใยผ้า โดยการนำเอาเส้นใยจากใบอ้อยมาเป็นส่วนผสมในการผลิตเส้นใย ก่อนนำมาถักทอ ซึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดย น.ส.สุวรรณะ ประไพ ผู้ใหญ่บ้านหนองโกวิทย์ จ.สระแก้ว และประธานกลุ่มศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านหนองโกวิทย์ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้รับความอนุเคราะห์จากคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี เข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้กระบวนการทุกขั้นตอน ทั้งการหมัก การซักและนำกากใยใบอ้อยประมาณ 20% ไปปั่นผสมฝ้ายเป็นด้ายสำหรับทอผ้า โดยแกนด้ายสำหรับทอผ้า ชุมชนได้ใช้ปล้องของต้นเพกาแทนพลาสติก
.
ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านสามารถทำได้เองทุกขั้นตอน ซึ่งจากภูมิปัญญาที่ทอกันมา 20-30 ปี จึงได้นำใยจากใบอ้อยมาทอผ้าเมื่อประมาณ 2 ปี ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดคือ ได้ช่วยกันลดภาวะโลกร้อน จากเดิมที่เกษตรกรจะตัดอ้อย มักใช้วิธีการเผา จึงไปนำใบอ้อยส่วนหนึ่งมาใช้เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งเป็นการทอผ้าด้วยกี่โบราณ ทำด้วยมือ ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านหนองโกวิทย์มีสมาชิกที่ทอผ้าทั้งหมด 28 ครัวเรือน ทำงานร่วมกับกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยในช่วงโควิด 19 ระบาด มีเยาวชนที่กลับมาอยู่บ้าน ได้เข้ามาช่วยกลุ่ม นำความรู้ที่ได้จากโรงงานมาฝึกสอนแนวทางการแปรรูปเพิ่มเติมได้ ทำให้ปัจจุบัน การทำผ้าทอมือสร้างรายได้เป็นอาชีพหลักให้กับชุมชนได้แล้ว
.
เรียบเรียงโดย อาทิตยา ปักกะทานัง
รายงานโดย ณัฐพล ดีอุต