รศ.ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะผู้จัดทำโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ สาขาการบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ กล่าวว่า การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ นับเป็นภารกิจอันสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เกิดจากภัยพิบัติต่างๆ อุบัติเหตุ ได้รับความปลอดภัย ทั้งผู้ประสบภัย และผู้ให้ความช่วยเหลือ ให้มีการขับเคลื่อนมาตรฐานอาชีพ สาขาบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานบุคคลที่มีสมรรถนะในอาชีพดังกล่าวให้มีความเป็นสากล
โดยหลักสูตรดังกล่าวจะมีการจัดทำเครื่องมือประเมินและทดลองเครื่องมือประเมินนักกู้ชีพชั้น 1 นักกู้ภัย ชั้น 4 และนักดับเพลิงชั้น 4 มีการทดสอบภาคทฤฎีและภาคปฏิบัติ ได้แก่ มาตรฐานการรายงานเหตุ แจ้งเหตุ และประสานงาน การเข้าถึงเหตุการณ์ก่อนคนแรก first responder การให้ความช่วยเหลือขั้นต้น การปฐมพยาบาล การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ การฟื้นคืนชีพ ทีมกู้ชีพ อีอาร์ที เทคนิคการฟื้นคืนชีพ ซีพีอาร์ ให้ความช่วยเหลือกู้ภัยเบื้องต้นได้โดยใช้อุปกรณ์เบาชนิด เชือก มีด กรรไกร อุปกรณ์ยึดเหนี่ยว การคัดแยกผู้บาดเจ็บเพื่อนำส่งต่อหน่วยแพทย์โดยคัดแยกตามระดับของการบาดเจ็บมากที่สุดจนถึงน้อยที่สุด
ทั้งนี้ผู้เข้ารับการประเมินเป็นผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการกู้ชีพ กู้ภัย และดับเพลิง ที่มีประสบการณ์สูง อายุงานเฉลี่ย 15 ปี มีการฝึกอบรมและได้รับการรับรองในสาขาวิชาชีพจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผลการทดสอบภาคปฏิบัติอยู่ในเกณฑ์ผ่านมีระดับค่าเฉลี่ยร้อยละ 98.98 และผลการทดสอบภาคปฏิบัติอยู่ในเกณฑ์ผ่านเกินกว่าร้อยละ 80 จึงได้รับการรับรองมาตรฐานอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในอาชีพให้ความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากบุคคลในอาชีพเป็นอย่างมาก นับเป็นนิมิตหมายอันดีต่อการเป็นผู้มีความเป็นมืออาชีพในระดับสากลต่อไป