คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี จัดประกวดโครงการส่งเสริมแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระดับมัธยมศึกษา

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี ได้จัดประกวดโครงการส่งเสริมแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระดับมัธยมศึกษา “การประกวดโครงงาน สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ครั้งที่ 10 Youth Scientists & Innovators: The new engine driving the BCG Economic Model นักวิทยาศาสตร์และนวัตกรรุ่นเยาว์ พลังใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG โมเดล” โดยมี ผศ.ดร.นิพัทธ์ จงสวัสดิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี เป็นประธานเปิดงาน มีคณาจารย์ นักศึกษา มทร.ธัญบุรี ตัวแทนคณะครูและนักเรียนจากหลากหลายโรงเรียนเข้าร่วมงาน
.
สำหรับโครงการที่นักเรียนส่งเข้าร่วมการประกวดนั้น คณะกรรมการได้มีการพิจารณาและตัดสินผลงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโครงการที่คว้ารางวัลชนะเลิศของแต่ละประเภท มีดังนี้
1.กลุ่มคอมพิวเตอร์ ได้แก่ โครงการระบบตรวจวิเคราะห์คุณภาพลูกกุ้งประสิทธิภาพสูงด้วย Optimized probabilistic deep learning เพื่อยกระดับกระบวนการเลี้ยงของอุตสาหกรรมกุ้งขาวแวนนาไม จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
2.กลุ่มคณิตศาสตร์และสถิติ ได้แก่ โครงการการศึกษาระบบพาร์ทติชันของรูปสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยม จากโรงเรียนบางกะปิ
3.กลุ่มวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ได้แก่ โครงการการพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจลายนิ้วมือแฝงอย่างง่ายในระดับ Small scale ด้วย Small Particle Reagent ร่วมกับวัสดุเรืองแสงคาร์บอนดอทจากสารธรรมชาติ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
4.กลุ่มสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ได้แก่ โครงการ Durian knocking จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี
.
ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี ได้จัดโครงการการประกวดขึ้น เนื่องจากการตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของเยาวชนในยุค 4.0 ที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การสร้างนักนวัตกรที่พร้อมด้วยคุณสมบัติที่เหมาะสม มีความสามารถและทักษะที่จำเป็นบนพื้นฐานของความดี มีจิตอาสา จึงต้องหล่อหลอมและสนับสนุนตั้งแต่เด็กและเยาวชน ซึ่งการจัดโครงการครั้งนี้ ถือเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาได้ใช้ทักษะพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ อันนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับสถานศึกษาต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป
.
เรียบเรียงและรายงานโดย อาทิตยา ปักกะทานัง