น้ำคือชีวิต l ตอน 18 จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแหล่งน้ำ


จุดเริ่มต้นที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักว่า “น้ำคือชีวิต” นั้น เกิดขึ้นที่อ่างเก็บน้ำเขาเต่าซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กติดทะเลใกล้เขา มีรูปร่างลักษณะเหมือนเต่า ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูก กระทั่งในปี 2496 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่บ้านเขาเต่า ซึ่งเป็นโรงเรียนธรรมชาติแห่งแรกที่ได้ทรงศึกษาปัญหาเรื่องน้ำและดิน โดยทรงเริ่มแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดของชาวบ้านเป็นลำดับแรก โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 60,000 บาท แก่กรมชลประทานให้ก่อสร้างทำนบดินปิดกั้นน้ำทะเลไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล และปล่อยทิ้งไว้ให้ความเค็มเจือจาง ทำให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภค เลี้ยงปลา รวมทั้งเพื่อการเพาะปลูก
พระองค์ทรงตระหนักอยู่เสมอว่าน้ำมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของราษฎรในชนบท จึงพระราชทานแนวพระราชดำริต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำ ด้วยเหตุนี้ กรมทรัพยากรน้ำจึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริ และศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนได้อย่างแท้จริง

“น้ำคือชีวิต ควรคิดก่อนใช้”
กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พร้อมให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรน้ำ โทร 1310 กด 5 หรือ www.dwr.go.th