นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ‘เทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน’

RMUT TALK l นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ‘เทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน’

สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ อาจารย์ที่ปรึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ‘เทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน’

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี คิดค้นนวัตกรรม ‘เทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน’
2 นักศึกษา “เนม-ภพธร คล้ายเข็ม นักศึกษาปริญญาโทภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ” และ “เด่น-พฤติพงศ์ พันธมนัสโสภา นักศึกษาปริญญาเอกคณะวิศวกรรมศาสตร์” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ได้คิดค้นและพัฒนาผลงานเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน (Green Oil-Absorbing Technology) โดยมี รศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ จาก มทร.ธัญบุรี และ ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งล่าสุดได้รับรางวัลเหรียญทองระดับอุดมศึกษา กลุ่มพลังงงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ จากโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับชาติ – Thailand New Gen Innovators Award 2024 (I-New Gen Awards 2024) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงานวันนักประดิษฐ์ 2567 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ที่ผ่านมา
เนม-ภพธร คล้ายเข็ม เผยว่า จุดเริ่มต้นของนวัตกรรม “เทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน” มาจากการตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลและชายหาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างเฉียบพลันและในระยะยาวต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบนิเวศอื่นๆ ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการดูดซับน้ำมันจึงมีความสำคัญ จึงได้ร่วมกันหาวัสดุรอบตัวเพื่อนำมาจัดการกับปัญหาดังกล่าว และได้รู้จักกับรุ่นพี่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งสนใจในด้านวัสดุและเคมีชีวภาพ และเขาได้วิจัยการสกัดผลึกนาโนเซลลูโลสจากผักตบชวา จึงได้ขอคำปรึกษาและชักชวนมาร่วมกันทดลองและผลิตโฟมดูดน้ำมัน จากผักตบชวาและยางพารา
ด้าน เด่น-พฤติพงศ์ พันธมนัสโสภา กล่าวสรุปเพิ่มเติมว่า เริ่มต้นจากการนำผักตบชวาไปตากแดดหรืออบให้แห้ง จากนั้นบดให้มีขนาดเล็กลงจนเป็นเส้นใย แล้วนำไปทำความสะอาดด้วยวิธีการฟอกจนได้เป็นสีขาว ขั้นตอนต่อไปคือการบดให้ละเอียด แล้วสกัดจนออกมาเป็นผลึกนาโนเซลลูโลส จากนั้นนำไปผสมกับน้ำยางพาราบริสุทธิ์ ขึ้นรูปจนได้โฟมยาง และได้ศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับน้ำมัน ประสิทธิภาพการนำกลับมาใช้ซ้ำร่วมด้วย ที่ได้ทดสอบกับน้ำมันชนิดต่างๆ ร่วมด้วย
“จุดเด่นของผลงานนี้ เมื่อมีน้ำและน้ำมันปะปนกันอยู่ โฟมจะทำหน้าที่ดักจับเฉพาะน้ำมัน และเมื่อรีดน้ำมันออกสามารถนำโฟมไปใช้ซ้ำได้อีกมากกว่า 40-50 ครั้ง รวมถึงน้ำมันที่ดักจับได้ สามารถนำไปใช้งานต่อไป ขณะเดียวกันโฟมยางที่พัฒนาขึ้นนี้ มีน้ำหนักเบา ต้นทุนต่ำ เคลื่อนย้ายได้ง่ายทำให้สะดวกต่อการนำไปใช้งาน และยังสามารถขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆ ได้อีกด้วยเพื่อให้ง่ายและเข้าถึงต่อพื้นที่ และผลงานดังกล่าวยังถือเป็นการแก้ปัญหาใน 2-3 มิติ กล่าวคือการลดปัญหาวัชพืชของผักตบชวา และสนับสนุนการใช้ยางพาราให้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์” เจ้าของผลงาน อธิบาย
ขณะที่ รศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ อาจารย์ที่ปรึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรวิศวกรรมวัสดุ อธิบายเสริมว่าผลงานเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมันนี้ช่วยแก้ปัญหาที่หลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ เตรียมขยายสเกลและนำไปทดลองจริงต่อไป ควบคู่กับการพัฒนาคุณสมบัติที่มากยิ่งขึ้นต่อไปและเป็นนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้มีสภาพพร้อมใช้ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02-5493400

รับฟังได้ทาง FM 89.5 MHz. Innovation for Life วิทยุราชมงคลธัญบุรี
ออกอากาศ วันที่ 19 มีนาคม 2567
เวลา 14.00 – 14.30 น.
ผู้ดำเนินรายการ อาทิตยา ปักกะทานัง