ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาโนช บุญทองเล็ก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า กิจกรรมการ “โยนลูกรักษ์” ได้สืบทอดกันมาตั้งปี 2546 ซึ่งทางสโมสรนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ จัดขึ้นเพื่อต้อนรับน้องใหม่ของคณะ เป็นกิจกรรมที่สวยงามและยึดหลักความสามัคคีของเหล่ารุ่นน้องและรุ่นพี่ รวมถึงคณาจารย์ 11 สาขาวิชา
.
‘ลูกรักษ์’ หมายถึง ลูกศิษย์อันเป็นที่รักของครูบาอาจารย์ และมีคานลูกรักษ์ที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งคานลูกรักษ์ต้องเป็นเสาคาน 4 เสา ในการโยนลูกรักษ์ของตนเองต้องโยนให้ข้ามเสาที่ตั้งไว้จนเกิดเป็นสายใยถักทอประสานไปมาจาก 1 เส้น เป็น 2,3,4 จนเกิดเป็นโครงสร้างสานใยที่แน่นหนา สวยงามเกิดจากลูกรักษ์ทั้งหมดได้มาประสานเป็นหนึ่งเดียวคือนักศึกษาใหม่ทั้ง 11 สาขาวิชาของคณะศิลปกรรมศาสตร์
.
โดยกิจกรรมการโยนลูกรักษ์ รับน้องเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย กิจกรรมการแห่ลูกรักษ์ การเคลื่อนขบวนไปสักการะบูชายังสถานที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ภายในขบวนประกอบด้วย เครื่องสักการะบูชา พานขนมหวาน พานผลไม้ เมื่อแห่ไปรอบมหาวิทยาลัยแล้ว กลับมายังคณะเพื่อเข้าสู่พิธีสักการะบูชาพระพุทธรูปประจำคณะฯ และองค์เทพประจำคณะ คือ องค์พ่อพระวิษณุกรรม ทำพิธีถวายเครื่องสังเวย เมื่อเสร็จพิธีถวายเครื่องสักการบูชา จากนั้นเข้าสู่การโยนลูกรักษ์ โดย ผศ.ดร.มาโนช บุญทองเล็ก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นคนโยนลูกรักษ์ลูกแรก ต่อด้วยผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ต้องอธิษฐานและสัญญาก่อนโยนไปยังคาน ระหว่างนั้นวงดนตรีเล่นเพลงประกอบ โดยมีความเชื่อว่า ถ้าโยนไม่ข้ามจะเรียนไม่จบ
.
รายงานโดย อาทิตยา ปักกะทานัง