อาจารย์นักวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ธัญบุรี ผลิตเครื่องแปรรูปกล้วยตากอเนกประสงค์ คว้า “รางวัลดีเด่น” ในงาน RMUTT IP & Business Matching ช่วยชุมชนสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

รศ.ดร.วรินธร พูลศรี จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องแปรรูปกล้วยตากอเนกประสงค์ คว้ารางวัลดีเด่นจากเวที “RMUTT IP & Business Matching พลิกไอเดียสู่ตลาด สร้างโอกาสสู่อนาคต” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยนำเสนอผลงานนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปีนี้มีผลงานเข้าร่วมเวที Pitching ทั้งสิ้น 17 ผลงาน โดยเครื่องแปรรูปกล้วยตากอเนกประสงค์ได้รางวัลที่ 1 ระดับดีเด่น พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท
.
รศ.ดร.วรินธร อธิบายว่า การออกแบบเครื่องจักรนี้เน้นความเรียบง่าย ทนทาน และเหมาะสมกับการใช้งานในชุมชนที่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ผลิตขึ้นจากสเตนเลสที่มีความทนทานต่อการกัดกร่อนและการเสื่อมสภาพ ส่วนสายพานภายในใช้พีวีซีโค้ดติ้ง ช่วยป้องกันการติดของไซรัปและลดการเกิดเชื้อรา ไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะการแปรรูปกล้วยตากเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้กับการแปรรูปผลิตภัณฑ์อื่นได้ เช่น เนื้อสัตว์และสบู่ ช่วยให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้จากหลายช่องทาง กระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำเพียง 29,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตแบบดั้งเดิมที่ใช้แรงงานคนจำนวนมาก ถือว่ามีความคุ้มค่าและสามารถคืนทุนได้อย่างรวดเร็ว
.
ทั้งนี้ เครื่องแปรรูปกล้วยตากอเนกประสงค์ ยังช่วยให้ผลิตกล้วยตากได้เร็วขึ้น จากเดิมทำได้แค่ 4-5 ลูกต่อนาที เป็น 120 ลูกต่อนาที มีเปอร์เซ็นการเสียต่ำเพียง 3% ส่งผลให้ทำรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็มีคุณภาพดี ไม่ได้ต่างจากกล้วยตากที่ขายตามห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ ยังออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก สามารถซ่อมบำรุงเองได้ ลดการพึ่งพาเครื่องจักรซับซ้อนหรือเทคโนโลยีราคาแพงจากภายนอก ที่สำคัญคือช่วยให้ชาวบ้านมั่นใจได้มากขึ้น เพราะสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้จริง และช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
.
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี โทรศัพท์ 0 2549 4493
.
รายงานโดย ดาริสา ยิ้มสิงห์