มทร.ธัญบุรี ร่วมกับ วช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพิ่มมูลค่าขยะทะเลไทยเป็นวัสดุก่อสร้าง

ดร.ประชุม คำพุฒ หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมกับนักวิจัยด้านวัสดุและด้านสิ่งแวดล้อมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ดำเนินงานวิจัยโครงการ “ทะเลไทยไร้ขยะ” เพิ่มมูลค่าด้วยการอัพไซคลิ่งขยะจากทะเลไทย

ในปีแรกของการดำเนินงาน มุ่งเน้นการนำขยะทะเลประเภทขยะพลาสติกมารีไซเคิล ลงพื้นที่เก็บขยะชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์ทะเลไทย ซึ่งมีการเก็บขยะกันอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการจัดกิจกรรมของภาครัฐและภาคเอกชนภายในพื้นที่ รวบรวมขยะ นำไปแยกประเภท ทำความสะอาด และบดย่อยเป็นมวลรวมแทนที่มวลรวมปกติบางส่วน ตามปริมาณที่เหมาะสม โดยเลือกกระบวนการเทคโนโลยีการทำปฏิกิริยาระหว่างปูนซีเมนต์กับน้ำเป็นสารเชื่อมประสานให้เกิดเป็นก้อนวัสดุแข็งแทนการเชื่อมประสานด้วยความร้อนจากการต้มหรือการหลอมละลายพลาสติก เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดมลพิษต่อผู้ผลิตและผู้ใช้งาน โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากวิธีนี้ คือ กระเบื้องคอนกรีตปูพื้นและบล็อกประสานปูพื้น โดยมีอัตราส่วนการผสมเศษขยะพลาสติกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของพลาสติกที่นำมาใช้

อย่างไรก็ตาม หากนำพลาสติกทุกชนิดมาบดย่อยรวมกันก็สามารถใช้งานได้เลย ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบของการผลิตกรรมวิธีนี้ เพราะสามารถใช้ขยะพลาสติกได้ทุกชนิดโดยไม่ต้องเหลือตกค้าง หรือเป็นการใช้ขยะให้เหลือศูนย์

ผลงานดังกล่าวการันตีด้วยรางวัลเหรียญทองจากประเทศมาเลเซีย และรางวัลพิเศษ โดย World Invention Intellectual Property Association ประเทศไต้หวัน จากการประกวดในงาน 30th ITEX’19 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย