นักวิจัย “มทร.ธัญบุรี” จัดการขยะผักผลไม้ “ตลาดไท” ผลิต “ปุ๋ยมูลไส้เดือน”

ดร.เอื้องฟ้า บรรเทาวงษ์ และ ผศ.สุจยา ฤทธิศร นักวิจัยและอาจารย์สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยถึงการจัดการขยะอินทรีย์แบบครบวงจรในตลาดไท ด้วยระบบผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน โดยได้ทุนงานวิจัยสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ มทร.ธัญบุรี โดย ดร.เอื้องฟ้า เผยว่า ตลาดไทเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดเฉลี่ย 12,000 ตันต่อวัน ซึ่งสินค้าจะถูกนำมาคัดเลือกและคัดแยกส่วนที่ไม่ได้มาตรฐาน เน่าเสีย มีตำหนิออก ทำให้ตลาดไทมีขยะที่เป็นเศษผักและผลไม้เหลือทิ้งจำนวนมาก ประมาณ 120 ตันต่อวัน ขยะเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคนในพื้นที่

ในการจัดขยะมูลฝอยที่แยกได้ โดยเฉพาะขยะมูลฝอยที่เป็นสารอินทรีย์ สามารถใช้กระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์และการกินของสัตว์หน้าดิน คือไส้เดือน ซึ่งปุ๋ยมูลไส้เดือนไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพดินได้ จึงได้ทำวิจัยการจัดการขยะอินทรีย์แบบครบวงจรในตลาดไทด้วยระบบผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน เปรียบเทียบสายพันธุ์ไส้เดือนที่เหมาะสมในการจำกัดและลดปริมาณขยะอินทรีย์ในพื้นที่ตลาดไท โดยใช้ไส้เดือน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไส้เดือนดิน สายพันธุ์ท้องถิ่น PE สายพันธุ์ AF และสายพันธุ์ Tiger worm จากการวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมี พบว่า ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนที่ได้จากสายพันธุ์ AF ให้ร้อยละไนโตรเจนทั้งหมด ร้อยละฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ร้อยละโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูงที่สุด ในขณะที่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนจากสายพันธุ์ PE มีค่าอินทรียวัตถุและค่าอินทรีย์คาร์บอนมากที่สุด