มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ส่งเสริมการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่ออัพไซ คลิ่งขยะพลาสติกทะเลเป็นวัสดุก่อสร้าง เป็นครั้งแรกของประเทศ

ดร.ประชุม คำพุฒ หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มทร.ธัญบุรี และรองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจเชิงพาณิชย์ สำนักความร่วมมืออุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันขยะทะเลไทยยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนพยายามหาทางแก้ไข มีการคัดแยกขยะและหาวิธีบริหารจัดการหลากหลายปัญหาหลักของขยะพลาสติกจากทะเลนั้น ถึงแม้ว่าจะมีการคัดแยกประเภทได้ก็ตาม ก็ยังไม่สามารถหมุนเวียนกลับสู่ระบบการรีไซเคิลได้ เนื่องจากขยะที่ได้จากทะเลโดนทั้งความชื้นและแสงแดดที่มักเป็นตัวเร่งให้พลาสติกเสื่อมสภาพ ประกอบกับสิ่งมีชีวิตในน้ำเค็ม มักจะไปเจริญเติบโตในขยะเหล่านั้น เช่น ตะไคร่น้ำ เพรียง โดยผู้ประกอบการไม่นิยมนำขยะทะเลไปใช้ประโยชน์รีไซเคิล เพราะมีความเค็ม ทำให้เครื่องจักรเครื่องมือเกิดสนิมเร็วกว่าปกติ ไม่คุ้มกับการรีไซเคิล จึงต้องนำไปกำจัดทิ้ง ดังนั้น จึงควรหาวิธีการอัพไซคลิ่งขยะพลาสติกทะเลเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์
.
นอกจากนั้น การนำขยะพลาสติกจากทะเลประเภทโพลีเอทิลีน โพลีโพรไพลีน มาผสมกับน้ำมันเครื่องใช้แล้ว สามารถนำมาใช้ทดแทนน้ำมันเตาหรือใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับเครื่องยนต์ทางการเกษตรหรือใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ การผลักดันให้เกิดการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนจากขยะทะเลในปี 2564 นี้ เป็นงานวิจัยเฟส 2 ของแผนงาน “ทะเลไทยไร้ขยะ” ที่ได้รับการ สนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนได้ในปี 2564 และสามารถดำเนินกิจการให้เข้มแข็ง สามารถกำจัดขยะพลาสติกทั้งหมดจากพื้นที่ได้ภายใน 5 ปี พร้อมกับขยายผลความสำเร็จไปสู่พื้นที่อื่นๆต่อไป