คณาจารย์และนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เดินทางไปทัศนศึกษายังประเทศมาเลเซีย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและสร้างสรรค์ศิลปะในผลงานของตนเอง

รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พร้อมด้วยคณาจารย์และนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ เดินทางเพื่อไปทัศนศึกษายังประเทศมาเลเซีย โดยในครั้งนี้ได้รับพระกรุณาให้เข้าพบ เจ้าชายเติงกู อิบราฮิม ปุตรา บิน อัล-มัรฮูม เติงกู ปังลีมา เปรัง ปาฮัง เติงกู ดาโต๊ะ เซอรี อับดุล อาซิส พระภราดรในสมเด็จพระราชาธิบดี ประเทศมาเลเซีย และดาโต๊ะ อับดุล ฟาตาห์ บินฮัจญี อับดุล จาลาล บุตรบุญธรรมขององค์ประไหมสุหรี (สมเด็จพระราชินี) แห่งรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย และประทานความเมตตาเข้าร่วมศึกษาดูงานไปพร้อมกับคณะด้วย ในระหว่างวันที่ 16 -19 พฤษภาคม 2566
.
สำหรับการทัศนศึกษาเริ่มจาก ปุตราจายา (Putrajaya) เมืองหลวงแห่งใหม่ของมาเลเซียที่ได้ชื่อว่ามีการวางผังเมืองได้ดีที่สุดโดยแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน สถานที่ราชการ โซนที่อยู่อาศัย สถานที่ท่องเที่ยว ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เสน่ห์ของที่นี่คือพื้นที่สีเขียวร่มรื่น ทะเลสาบและอาคารรูปทรงแปลกตาเป็นการผสมผสานของสถาปัตยกรรมหลากหลายแบบ อย่างมัสยิดปุตรา (Putra Mosque) หรือมัสยิดสีชมพู เป็นต้น ในส่วนของ คาเมรอล ไฮแลนด์ (Cameron Highlands) หรือ สวิตเซอร์แลนด์มาเลเซีย พื้นที่ส่วนใหญ่ของคาเมรอน ไฮแลนด์เป็นเทือกเขาสูง มีความสูงเฉลี่ย 1,524 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล บนเขาแห่งนี้แบ่งชุมชนเมืองเป็นสามระดับหรือสามชั้น ได้แก่ ริงเกล็ต ทานาห์ราตา และบรินชาง ด้วยอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปีจึงเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยดอกไม้นานาพรรณ สวนผัก สวนผลไม้ และไร่ชา แลนด์มาร์คสำคัญที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก ตึกแฝดปิโตรนาส (Petronas Twin Towers) แห่ง กรุงกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) ครั้งหนึ่งเคยรั้งตำแหน่งอาคารที่สูงที่สุดในโลกเมื่อระหว่างปี ค.ศ. 1998-2004 ด้วยความสูง 452 เมตร จำนวน 88 ชั้น ผลงานการออกแบบของ ซีชาร์ เปลลี (Cesar Pelli) ชาวอาร์เจนตินา-อเมริกัน แรงบันดาลใจมาจาก เสาหินทั้งห้าของศาสนาอิสลาม โครงสร้างของอาคารทั้งหลังเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายนอกตกแต่งด้วยแผ่นสแตนเลส และกระจกประกบทำมุมกันเป็นลวดลายคล้าย ดาวแปดแฉก รูปลักษณ์ภายนอกของอาคารยังดีไซน์ให้มีลวดลายรูปแบบการทอผ้าของชาวมาเลเซียที่พลิ้วไหวช่วยลดทอนความแข็งกระด้างของสิ่งปลูกสร้างระดับโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์
.
ปิดท้ายกับ นครแห่งประวัติศาสตร์ มะละกา (Melaka) ตั้งอยู่บริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรมาเลเซีย ตามตำนานเชื่อว่า ชื่อ ‘มะละกา’ มีที่มาจากชื่อต้นมะละกา (Melaka tree) หรือ ต้นมะขามป้อม (Phyllanthus emblica L.) ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ริมปากแม่น้ำออกสู่ทะเลทางช่องแคบมะละกา ในอดีตจึงเป็นเมืองท่าสำคัญที่เคยทำการค้ากับจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศในทวีปยุโรป และเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรม สิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นในสมัยอาณานิคมของโปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษ เอกลักษณ์อันโดดเด่นคือมีแม่น้ำมะละกาผ่านกลางเมือง ทำให้เมืองเก่าริมปากแม่น้ำแห่งนี้ถูกจัดให้เป็น ‘เมืองมรดกโลก’ (World Heritage Site) จากองค์การยูเนสโกใน ค.ศ. 2008 โดยสองฝั่งริมแม่น้ำเป็นทางเดินเลียบตลอดแนวและยังเป็นพื้นที่แสดงผลงานศิลปะแบบภาพวาดบนฝาผนัง (Street Art) จากฝีแปรงของศิลปินท้องถิ่น ผลงานส่วนใหญ่แสดงออกในเชิงวัฒนธรรม ความกลมกลืนกันของหลายเชื้อชาติ คล้ายกับทุกภาพมีเรื่องราวเบื้องหลัง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเติมแรงบัลดาลใจให้ทั้งคณาจารย์และนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแบบของตัวเองต่อไปอีกด้วย
.
เรียบเรียงและรายงานโดย ดาริสา ตระกูลเง็ก