คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี รังสรรค์ “บายศรีสู่ขวัญ ฉุยฉายสู่ขวัญธัญบุรี” ต้อนรับนักศึกษาใหม่ “บัวสวรรค์ รุ่น 50”

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา 2567 จำนวนกว่า 6,000 คน ระหว่างวันที่ 18-20 มิถุนายน 2567 ณ หอประชุมราชมงคล มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยหนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ พิธีบายศรีสู่ขวัญ “บายศรีสู่ขวัญ ฉุยฉายสู่ขวัญธัญบุรี” ผลงานที่รังสรรค์โดยคณาจารย์ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน สาขาวิชานวัตกรรมศิลปประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สโมสรนักศึกษา องค์การนักศึกษา สภานักศึกษา มทร.ธัญบุรี
.
โดย ผศ.วิจิตร สนหอม หัวหน้าสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า “บายศรีสู่ขวัญ ฉุยฉายสู่ขวัญธัญบุรี” ได้รับแรงบันดาลใจจาก เครื่องแต่งกายของนางรำ ฉุยฉายพราหมณ์ ซึ่งเครื่องแต่งกายฉุยฉายนั้น จะใช้โทนสีขาวเป็นหลัก สีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ สันติภาพ ความสงบสุข ความดี ความเรียบร้อย เรียบง่าย ความสะอาด ความไร้เดียงสา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายที่ดีทั้งสิ้น จึงเลือกใช้สีขาวเป็นสีหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน ส่วนที่เป็นสีม่วงนั้น เปรียบเสมือน เครื่องประดับ มีความหมายที่สื่อถึงจิตวิญญาณ ความสูงส่ง ความหรูหรา การเฉลิมฉลอง ความใฝ่ฝันด้วยสติปัญญา บายศรีสำรับนี้ได้มีการออกแบบโครงสร้างแบ่งเป็น 8 ทิศ ดังกลีบดอกบัวที่มีอยู่ในตรามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งมีความหมายว่า มรรคมีองค์ 8 หนทางแห่งการดับทุกข์และได้มีการนำตรามหาวิทยาลัยมาเป็นเครื่องประดับในบายศรีทั้ง 8 มุม ซึ่งเป็นเข็มกลัดที่อยู่ในชุดครุยวิทยะฐานะในวันที่นักศึกษาได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งบ่งบอกว่าวันนี้เป็นวันแรกที่ได้พบกันและจะพบกันจนวันสุดท้ายของการศึกษา วันที่นักศึกษาและเหล่าคณาจารย์ได้ภาคภูมิใจที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีแห่งนี้
.
สำหรับ “บายศรีสู่ขวัญ ฉุยฉายสู่ขวัญธัญบุรี” สร้างสรรค์ขึ้นอย่างประณีตงดงาม ใช้วัสดุดอกไม้ ใบไม้สด ผสมผสานนวัตกรรมดอกไม้ประดิษฐ์แบบปราณีตศิลป์ด้วยเทคนิคการร้อย การติด การเย็บ สื่อถึงความสมัครสมานสามัคคีและความสัมพันธ์ของครูอาจารย์ พี่ น้อง และศิษย์เก่าที่ร้อยเรียงเกี่ยวพันเป็นลูกราชมงคลแห่งนี้ ใช้ระยะเวลาทำกว่า 150 ชั่วโมง เป็นการร่วมมือร่วมใจกันของหลายฝ่าย ที่ตั้งใจนำมาต้อนรับน้องๆ นักศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา 2567 ลูกบัวสวรรค์รุ่นที่ 50 ทุกคน
เรียบเรียงและรายงานโดย อาทิตยา ปักกะทานัง