ในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากมายที่ทำให้คนไทยสามารถติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกยิ่งขึ้น ฟีเจอร์แชทอย่าง LINE จึงกลายเป็นฟีเจอร์ยอดนิยมที่ผู้คนใช้สื่อสารหากันทุกวัน และหากสังเกตพฤติกรรมการแชทของคนไทยไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหน แน่นอนว่าจะต้องเห็นการส่งอิโมจิและสติกเกอร์ภาพ แทนความรู้สึกและอารมณ์หาคู่สนทนา บทความนี้จะไปวิเคราะห์ว่า เหตุผลหลักที่ทำให้สติกเกอร์ หรือ อิโมจิ ครองใจคนไทยสายแชทกันได้ขนาดนี้คืออะไร
เหตุผลแรกคือ วัฒนธรรมการสื่อสารของคนไทยให้คุณค่ารูปแบบมารยาทภายนอก ไม่ว่าจะกิริยาท่าทาง การแต่งกาย การพูด การแสดงอิริยาบถต่างๆ ทำให้การสื่อสารของคนไทยมีลักษณะประนีประนอมสูง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยมักเลือกสื่อสารกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย
ไม่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงและตรงไปตรงมาหรือขวานผ่าซากจนเกินไป แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เต็มใจ และพึ่งพาอวัจนภาษาที่มีความซับซ้อนกว่า ซึ่งการส่งภาพสติกเกอร์หรืออิโมจิ สามารถช่วยปิดช่องโหว่ทางการสื่อสารและลดความกังวลดังกล่าวผ่านการพิมพ์ตัวอักษรผ่านแชทได้เป็นอย่างดี
เหตุผลที่สองคือ ภาษาไทยเป็นภาษาไม่หยุดนิ่ง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทยคือ ภาษาในแต่ละยุคสมัยจะเป็นเครื่องบ่งบอกบริบทและความเป็นไปทางสังคม ความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย โดยได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำให้เกิดการตีความถ้อยคำหรือวลีที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย
และเหตุผลสุดท้ายคือ ความสะดวกสบายในการสื่อสาร ในการสื่อสารในปัจจุบันที่มักมีข้อความพื้นฐานที่ใช้บ่อยในทุกบทสนทนา เช่น สวัสดี โอเค ขอบคุณ ลาก่อน หรือ ฝันดี การส่งสติกเกอร์จะช่วยลดปัญหาความไม่สะดวกในการพิมพ์ข้อความ ทั้งยังสามารถเลือกรูปแบบและสไตล์ของสติกเกอร์ให้เหมาะสมกับผู้รับได้ตามสมควร และยังช่วยแก้ไขสถานการณ์ในบทสนทนาได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากการใช้งานสติกเกอร์พื้นฐานอย่าง ‘บราวน์โค้ง’ ที่มักถูกส่งในหลากหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเปิด/ปิดบทสนทนา ตัดบทสนทนา เปลี่ยนเรื่อง รับหน้า หรือถนอมน้ำใจ
ดำเนินรายการโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์โสภณ สาทรสัมฤทธิ์ผล