นักวิจัย มทร.ธัญบุรี ต่อยอดงานวิจัยเส้นพลาสติกพิมพ์สามมิติรักษ์โลกจากส่วนผสมชีวมวล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนินท์ มีมนต์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า เมื่อปี 2561 ทีมวิจัยได้วิจัย “เส้นพิมพ์ สามมิติรักษ์สิ่งแวดล้อมจากข้าวไทย”(Environmental Friendly 3D Printing from Thai rice) ศึกษาวิจัยและทดลองนำข้าวและข้าวเปลือกมาบดให้เป็นผงและผสมกับผสมพอลิแลคติคแอซิด หรือ PLA ผลิตเป็นเส้นพลาสติกสำหรับงานพิมพ์สามมิติได้รับรางวัลเหรียญทองในการประกวด 46th International Exhibition of Inventions Geneva ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จากประสบการณ์และความสำเร็จ จึงมีแรงบันดาลใจในการขยายผลงานศึกษาวิจัยถึงพลาสติกชนิดอื่นนอกเหนือจาก PLA และการใช้เส้นใยชนิดอื่นมาผสมร่วมกัน เช่น ฟางข้าวแกลบและเส้นใยจากใบสับปะรด
.
ด้วยเหตุนี้ ทีมงานวิจัยจึงได้นำข้าว ฟางข้าว แกลบและเส้นใยจากใบสับปะรด มาบดให้เป็นลักษณะผงละเอียดผสมกับ PLA เกรดที่ใช้สำหรับขึ้นรูปเป็นเส้นพลาสติกในงานพิมพ์สามมิติ เพื่อลดปริมาณการใช้ PLA ให้น้อยลง ปรับปรุงสมบัติให้เหมาะสมสำหรับการพิมพ์สามมิติที่กำลังได้รับความสนใจและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพการพิมพ์ชิ้นงานให้ได้คุณภาพ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากโครงการ Talent mobility ของสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และร่วมศึกษาวิจัยกับบริษัทเพลนคลาส จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นพิมพ์สามมิติที่มีส่วนผสมของชีวมวล สามารถใช้งานได้จริง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถจำหน่ายได้เชิงพาณิชย์ ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ ผศ.ดร.อนินท์ มีมนต์ 06-4293-5154