คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย สร้างเครื่องผ่าผลหมากสำหรับชุมชน ลดขั้นตอน ลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร

กระบวนการผ่าหมากในท้องถิ่นภาคใต้ยังใช้วิธีการแบบดั้งเดิม คือ ใช้มีดในการผ่าหมากออกเป็นสองซีก จากนั้นนำไปตากแดดประมาณ 1-2 แดด ให้เนื้อหมากด้านในหดตัวจึงทำการแกะเนื้อด้านในออก นำเนื้อหมากที่ผ่านการแกะแล้วไปตากแดดอีกครั้ง ประมาณ 4-5 แดด ก็สามารถเก็บเพื่อส่งขายได้ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการผลิตหมากแห้ง ทำให้ไม่สามารถผลิตหมากแห้งให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดได้ นอกจากนี้ ในการผลิตหมากแห้งแบบดั้งเดิมนี้ยังทำให้เกษตรกรผู้ทำการผ่าหมากได้รับบาดแผลที่นิ้วสูงมาก และสภาพแวดล้อมภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีฝนตกชุกตลอดปี ทำให้เกิดปัญหาเกิดเชื้อราขึ้นเนื่องจากความชื้นและการตากแดดไม่เพียงพอ ส่งผลให้ไม่สามารถขายหมากแห้งได้ในราคาที่ต้องการ
.
จากปัญหาดังกล่าว รศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา จึงได้จัดทำเครื่องผ่าผลหมาก เป็นการลดขั้นตอนในการผลิตหมากแว่น และลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร การพัฒนาเครื่องผ่าผลหมากตัวเครื่องประกอบด้วยระบบการลำเลียงหมากแห้ง ระบบป้อนหมากแห้งเข้าสู่ระบบการผ่าเป็นแว่นๆ โดยเครื่องจักรดังกล่าวจะสามารถช่วยเพิ่มกำลังการผลิตในกระบวนการแปรรูปหมากแห้งเป็นแว่นๆ เพื่อรองรับต่อความต้องการของตลาดอีกด้วย
.
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รศ. วรพงค์ บุญช่วยแทน อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา โทรศัพท์ 081-569-7303
.
ธนากร สิทธิสาร วิทยุราชมงคลศรีวิชัย รายงาน