นักวิจัยคณะการแพทย์บูรณาการ มทร.ธัญบุรี เปลี่ยน ‘ก้างปลาหมอคางดำ’ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มแคลเซียม บำรุงร่างกาย

ผศ.ดร.พท.ป.วัชระ ดำจุติ อ.ดร.สุริยา ชัยวงค์ และ น.ส.ชลิตรา วงษ์นุ่ม อาจารย์และนักวิจัย คณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ได้คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากก้างปลาหมอคางดำผลงานใหม่ที่ผสานการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้วยการสกัดแคลเซียมจากก้างปลาหมอคางดำ ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งยังช่วยลดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ และอยู่ระหว่างการจดอนุสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิต
.
ผศ.ดร.พท.ป.วัชระ ดำจุติ หนึ่งในผู้วิจัยจากคณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์โดยเฉพาะในกระบวนการสร้างและบำรุงรักษากระดูกและฟัน การขาดแคลเซียมอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง เช่น โรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และยังส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของกระดูกในวัยเด็กและวัยรุ่น หนึ่งในแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนคือการนำปลาหมอคางดำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากปลาชนิดนี้มีแคลเซียมและสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การใช้กระดูกปลาหมอคางดำสกัดแคลเซียมเป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพและมีความบริสุทธิ์สูง โดยกระบวนการสกัดไม่ทำลายคุณค่าทางโภชนาการอื่นๆ ของปลา และแคลเซียมที่ได้จากปลายังมีความโดดเด่นในเรื่องความสามารถในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจดีกว่าแคลเซียมที่ได้จากแหล่งอื่นๆ ขณะเดียวกัน การนำก้างปลาหมอคางดำมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวถือเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างยั่งยืนและลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม
ในการดำเนินการพัฒนาวิธีการสกัดแคลเซียมคาร์บอเนตจากก้างปลาหมอคางดำเพื่อใช้ในการเตรียมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีกระบวนการสำคัญโดยสรุป เริ่มต้นจากการแยกก้างปลา การสกัดแยกแคลเซียมคาร์บอเนตจากก้างปลาด้วยกรรมวิธีทางเคมี การแยกตะกอนแคลเซียมและการทำแห้งผงแคลเซียมคาร์บอเนต จนกระทั่งได้แคลเซียมคาร์บอเนตจากก้างปลาหมอคางดำเพื่อใช้เตรียมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลวิจัยที่สำคัญส่วนหนึ่ง พบว่าก้างปลาหมอคางดำให้ประมาณแคลเซียมสูงถึงประมาณร้อยละ 14 ของน้ำหนักสารละลายทั้งหมด
.
ปัจจุบันทีมวิจัยอยู่ระหว่างการดำเนินการจดอนุสิทธิบัตรกรรมวิธีการสกัดแคลเซียมจากก้างปลาหมอคางดำ เพื่อเตรียมการผลิตและจำหน่าย ผู้ที่สนใจสามารถติดตามโครงการวิจัยดังกล่าวได้ที่ คณะการแพทย์บูรณาการ มทร.ธัญบุรี 0-2592-1989
.
รายงานโดย อาทิตยา ปักกะทานัง