มทร.ล้านนา จับมือกรมการแพทย์แผนไทยฯ และวิสาหกิจชุมชน ปลูกและวิจัยพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ต่อยอดสู่การแปรรูปให้เป็นยา 16 ตำรับเพื่อประชาชนไทย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกบุกและแปรรูปบุก เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จัดพิธี “ปลูกกัญชาต้นแรก” เพื่อเริ่มต้นกระบวนการผลิตกัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 มกราคม 2563 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์ บ้านทุ่งแพม ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มทร.ล้านนา เปิดเผยว่า “พิธีปลูกกัญชาต้นแรกนี้ เป็นภาพสะท้อนความร่วมมือของมหาวิทยาลัยฯ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมศิษย์เก่า มทร.ล้านนา และวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งแพม ในการที่จะพัฒนาสายพันธุ์กัญชาที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อนำไปใช้ปรุงยาไทย 16 ตำรับเพื่อสุขภาพและพลานามัยที่ดีของประชาชนชาวไทย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะนำวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ที่มีความพร้อมมาผลิตกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยฯ โดยมีศูนย์วิจัยพัฒนากัญชาทางการแพทย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งแพมเป็นต้นแบบ โดยมหาวิทยาลัยได้รักษาความปลอดภัยตามข้อกำหนดของคณะกรรมการอาหารและยาอย่างเคร่งครัด พื้นที่ทั้งหมดมีระบบการรักษาความปลอดภัยสูง ผู้ที่เข้า-ออก จะต้องได้รับอนุญาตเท่านั้น ส่วนการลำเลียงขนส่งจะต้องแจ้งไปยังจังหวัดและตำรวจทางหลวงทุกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มั่นใจว่าจะไม่มีกัญชาผิดกฏหมายหลุดลอดออกไปได้อย่างแน่นอน”

ซึ่ง“พิธีปลูกกัญชาต้นแรก” เป็นการดำเนินกิจกรรมสืบเนื่องจากการทำความร่วมมือระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ก ระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกบุกและแปรรูปบุก เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม ในการร่วมกันวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา และ กัญชงเพื่อใช้ทางการแพทย์ และจัดส่งผลผลิตให้กับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในการปรุงเป็นยาไทย 16 ตำรับ แจกจ่ายให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลในเครือข่ายทั่วประเทศ และเป็นแห่งแรกของไทยที่มีดำเนินการและบริหารจัดการร่วมกับวิสาหกิจชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ โดยทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้คัดเลือกสายพันธุ์กัญชาที่มีประสิทธิภาพสูง จำนวน 4 สายพันธุ์ มาปลูก ณ ศูนย์วิจัยฯ ประกอบด้วย กัญชาสายพันธุ์เพชรบุรี ตะนาวศรี หางกระรอกด้ายแดง และหางกระรอกอีสาน

ธริษตรี ธนรัตนพิมลกุล วิทยุราชมงคลล้านนา รายงาน