วิศวะโยธา “มทร.ธัญบุรี” พัฒนา “คอนกรีตผสมกระดูกไก่” เพิ่มมูลค่ากากมลพิษอุตสาหกรรม

นายศุภศิษฐ์ สีลา นายคุณานนต์ แซ่บ้าง นายจิรายุส ยีสมัน และนายนภัสรพี แสงสว่าง นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พัฒนาคอนกรีตผสมกระดูกไก่ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการกำจัดฟลูออไรด์ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
.
โดยอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า กระดูกไก่เป็นวัสดุที่สามารถนำมาบดและเผาเป็นวัสดุสำหรับใช้ในการดูดซึมสารฟลูออไรด์ที่ปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมและบริเวณแหล่งน้ำต่างๆ ได้ แต่เมื่อกระดูกไก่ดูดซึมสารฟลูออไรด์แล้วจะเป็นวัสดุที่สามารถกำจัดได้ยาก เนื่องจากอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ต้นทุนในการกำจัดสูง ทีมผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะนำกระดูกไก่ที่ปนเปื้อนสารฟลูออไรด์มาผสมลงในคอนกรีต เพื่อเพิ่มมูลค่าและแก้ปัญหากระดูกไก่ที่มีการปนเปื้อนสารฟลูออไรด์ ตลอดจนช่วยพัฒนาคุณสมบัติของคอนกรีต การวิจัยครั้งนี้ได้ทำการศึกษาโดยออกแบบส่วนผสมของคอนกรีตผสมกระดูกไก่บดจากการกำจัดฟลูออไรด์ และขึ้นรูปเป็นคอนกรีตรูปลูกบาศก์ขนาด 15x15x15 เซนติเมตร ทดสอบคุณสมบัติทั้งทางกายภาพและทางกลเพื่อเปรียบเทียบกับคอนกรีตทั่วไปตามมาตรฐาน ASTM และ BSI ผลการทดสอบพบว่า กระดูกไก่บดมีค่าโมดูลัสความละเอียดใกล้เคียงกันกับทรายและผ่านข้อกำหนดของกรมทางหลวงและคอนกรีตจะมีค่าการยุบตัวที่น้อยลงเมื่อปริมาณของกระดูกไก่ปนเปื้อนสารฟลูออไรด์มากขึ้น คอนกรีตผสมกระดูกไก่จากกระบวนการกำจัดฟลูออไรด์ เหมาะแก่การนำไปใช้ในงานที่มีความต้องการเร่งการก่อตัวของคอนกรีตให้เร็วมากขึ้นหรืองานที่ต้องการใช้คอนกรีตที่มีค่าการยุบตัวน้อย