มทร.สุวรรณภูมิ นำเทคโนโลยีปรับปรุงผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาขวัญ ทองรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ หัวหน้าโครงการหมู่บ้านวิถีวิทย์กุ้งองครักษ์ พร้อมทีมงานได้ลงพื้นที่ดำเนินโครงการ แก้ไขปัญหาสิ่งที่เกษตรกรประสบ คือ ปัญหาหนี้สิน จากการขาดทุนสะสม ต้นทุนการเลี้ยงสูงและได้รับราคากุ้งที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมไปปรับใช้ในการเลี้ยงกุ้งให้โตเร็ว ปลอดโรค ลดต้นทุนการผลิต พร้อมกับการแปรรูปเพิ่มมูลค่ากุ้งที่มีขนาดเล็กและเสียหายระหว่างการเลี้ยง และการจำหน่าย โดยการแปรรูปเป็นน้ำพริกกุ้งเมืองเหน่อ น้ำพริกเผาผัดกุ้ง น้ำพริกกุ้งสมุนไพร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาขวัญ ทองรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา เกษตรกรมีเงินหมุนเวียนในระบบการซื้อขายกุ้งของกลุ่มเพิ่มขึ้น มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกุ้ง มีแบรนด์สินค้า บรรจุภัณฑ์เหมาะสม สร้างรายได้เพิ่ม ลดหนี้สิน ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น
.
ล่าสุด ตนและทีมงานได้ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์น้ำพริกนรกกุ้งและกุ้งอบกรอบสมุนไพรหรือแสน็คกุ้งกรอบ มีการปรับขนาดของบรรจุภัณฑ์ รสชาติ และชิ้นผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปวิเคราะห์ และขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ สิ่งสำคัญภายใต้การดำเนินโครงการนี้นอกจากเกษตรกรจะได้ประโยชน์แล้ว นักศึกษายังได้ร่วมในการออกแบบสร้างแบรนด์สินค้าออกแบบฉลากเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม คือการนำเทคโนโลยีมาร่วมใช้ในงานจริง เป็นการเรียนรู้การปฏิบัติจริง มทร.สุวรรณภูมิ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ดังเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
.
ธนัชพร ปานเนาว์ มทร.สุวรรณภูมิ รายงาน