มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ พัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งปลอดสารเคมีด้วยโพรไบโอติก

ทีมอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ลงพื้นที่จัดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการคัดเลือกโพรไบโอติกที่แยกได้จากทางเดินอาหารของกุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเลี้ยงกุ้ง พร้อมทั้งมอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ RUS Probiotic ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ตำบลบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
.
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ นลวชัย หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า เกษตรกรชุมชนตำบลบางหลวง จังหวัดนครปฐม ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม วิธีการเลี้ยงส่วนใหญ่จะเลี้ยงในรูปแบบดั้งเดิม เลี้ยงแบบหนาแน่น ปัญหาและอุปสรรคตามมา ได้แก่ ลูกกุ้งมีอัตราการรอดต่ำ กุ้งโตช้า มีสภาพแคระแกร็น เกิดโรคระบาดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ทำให้มีการใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะเพื่อเป็นการป้องกันโรค ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและก่อให้เกิดการตกค้างของสารเคมีในตัวกุ้ง และเป็นอันตรายต่อตัวสัตว์น้ำและผู้บริโภคตามมา จากปัญหาข้างต้น ตนพร้อมทีมอาจารย์ในสาขาจึงได้ศึกษาคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกจากทางเดินอาหารของกุ้ง ซึ่งเป็น microflora ที่พบในร่างกายของกุ้งจะมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมให้กุ้งเจริญเติบโต มีความต้านทานโรค และมีความปลอดภัยสูง ดังนั้นการใช้โพรไบโอติกเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของกุ้ง ทำให้สุขภาพแข็งแรงและมีความต้านทานโรคสูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและยังปลอดจากสารเคมีตกค้างด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อการส่งออกและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคอีกด้วย
.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ นลวชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาครั้งนี้ได้นำผลการศึกษาไปเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโต อัตรารอดตาย ความต้านทานจากการติดเชื้อก่อโรค Aeromonas sp. และการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำในการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ในการเรียนการสอน ณ สาขาวิทยาศาสตร์การประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ และนำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ เพิ่มการเจริญเติบโต อัตรารอดตาย ความต้านทานโรค และรักษาคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามให้มีความยั่งยืนต่อไป