ชีวิตวัฒนธรรม – ตำนานพิธีตรุษ

ชีวิตวัฒนธรรม – ตำนานพิธีตรุษ
ชีวิตวัฒนธรรมสัปดาห์นี้ขอเสนอเรื่องราวของตำนานพิธีตรุษ
ประเพณีวันตรุษ แต่เดิมเป็นของพวกอินเดียฝ่ายใต้ เมื่อพวกทมิฬได้มาครองเมืองลังกา ก็ได้นำพิธีตรุษอันเป็นวิถีปฏิบัติของลัทธิตนเข้ามาด้วย ทำให้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกระทั่งกลายเป็นงานนักขัตฤกษ์ใหญ่ มีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในวันแรม 14 – 15 ค่ำ เดือน 4 และขึ้น 1 ค่ำ เพื่อให้เป็น สิริมงคลแก่บ้านเมืองของตน
ประเทศไทย มีปรากฏในตำนานนางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ว่าวันตรุษไทยมีมา แต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี โดยพระมหาษัตริย์ผู้ครองประเทศในครั้งนั้น ทรงรับเอาประเพณี วันตรุษ มาเป็นพระราชพิธี และทรงทำบุญบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นการประจำ เรียกว่า “พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์” คือ ทำบุญวันสิ้นปีหรือทำบุญส่งปีเก่า โดยกษัตริย์จะนิมนต์พระสงฆ์เข้ามาในพระราชวัง 3 วัน เพื่อทำการเจริญพระพุทธมนต์ และเมื่อสวดเจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้วจะมีการยิงปืนเหมือนกับไล่ผีปีศาจ ไล่สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายให้หมดไปกับปีเก่า ประเพณีดังกล่าวกระทำสืบต่อจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางราชการก็ได้มีการสั่งให้ยกเลิกประเพณี พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์หรือพิธีวันตรุษไทยของหลวง โดยให้ยกเอาไปรวมกับ พิธีสงกรานต์ เรียกรวมกันว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์ แต่ในส่วนของชาวบ้านก็ยังมีการประกอบพิธีประเพณีวันตรุษไทยกันอยู่อย่างเดิม
ติดตามได้ในชีวิตวัฒนธรรมกับ อาจารย์พนอ ธรรมเนียมอินทร์ ทางวิทยุราชมงคลธัญบุรี FM 89.5 MHz