ราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตรวจสอบคุณภาพกระท้อนตะลุง ก่อนประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดลพบุรี


นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมแถลงข่าวการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “กระท้อนตะลุง” ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดลพบุรีที่นิยมปลูกกันมากในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอเมืองลพบุรี คือ ตำบลตะลุง ตำบลงิ้วราย และตำบลโพธิ์เก้าต้น ซึ่งเป็นพื้นที่มีแม่น้ำลพบุรีไหลผ่านและหน้าดินเป็นดินน้ำไหลทรายมูลหรือดินทรายหวานที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกกระท้อน ทำให้ผลผลิตกระท้อนที่ได้มีคุณภาพและรสชาติเป็นที่นิยมของตลาด แตกต่างจากกระท้อนที่ปลูกในพื้นที่อื่น ผลของกระท้อนตะลุงจะมีรูปทรงกลมค่อนข้างแป้น ผิวนอกเรียบละเอียดและอ่อนนุ่ม มีขนนิ่มขนาดเล็กคล้ายกำมะหยี่ เปลือกบาง เนื้อและปุยเมล็ดค่อนข้างแห้งและนุ่ม รสชาติเนื้อและปุยเมล็ดหวานและไม่มีรสฝาด โดยในปี 2562 จังหวัดลพบุรี ได้ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตและคุณภาพของกระท้อนตะลุง อนุญาตให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้า จำนวน 92 ราย เป็นผู้ผ่านการตรวจสอบและได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย หรือ GI โดยกระท้อนตะลุง ที่ผ่านการตรวจสอบมีค่าความหวานอยู่ในช่วง 9-16 องศาบริกซ์ โดยผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าที่ผ่านการตรวจสอบจะได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย หรือตราสัญลักษณ์ GI เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อกระท้อนตะลุงได้อย่างมั่นใจ เป็นการช่วยรักษามาตรฐานและคุณภาพของกระท้อนตะลุงอีกด้วย