9 มทร.ร่วมแก้ปัญหาสุขภาพจิตนักศึกษา พบกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปีเสี่ยงสูง ด้าน มทร.ธัญบุรี เผยสถิติ “คลินิกกำลังใจ” จัดการปัญหาให้นักศึกษาแล้วกว่า 200 ราย

รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า ผลการประเมินสุขภาพจิตคนไทยในปี 2565 ของกรมสุขภาพจิต พบกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี มีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าทุกกลุ่มอายุ โดยพบว่ากลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 237,208 คน เป็นกลุ่มที่มีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มวัยทำงานและวัยสูงอายุ ซึ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จัดเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง มีความเสี่ยงสูง โดย มทร.ธัญบุรี มีแนวทางการบริการให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ ผ่านทางคลินิกกำลังใจ หรือ Mind Counseling RMUTT ที่เปิดให้บริการแก่นักศึกษาและบุคลากรมากว่า 5 ปี โดยนักจิตวิทยาและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้คำปรึกษาเป็นรายกรณีเฉพาะบุคคล แบบกลุ่ม แบบออนไลน์ บริการภายใต้แนวคิด “ปกปิด-ปลอดภัย-เปิดใจ”

ล่าสุด สถิติการเข้ารับบริการในปี 2565 ได้รับการดูแลและจัดการปัญหาแล้วกว่า 200 ราย ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรง มีการส่งต่อเชิงลึกเชื่อมโยงการรักษากับโรงพยาบาลในเขตศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 จัดอบรมอาจารย์ที่ปรึกษา บุคลากรที่ทำหน้าที่ให้บริการและใกล้ชิดนักศึกษา รวมทั้งกลุ่มผู้นำนักศึกษา เพื่อช่วยเหลือนักศึกษา ที่สำคัญยังจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ “คู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ระหว่าง มทร. 9 แห่งและกรมสุขภาพจิต เพื่อร่วมกันทำงานให้เกิดผลกับนักศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยร่วมกันดำเนินการในแต่ละเขตสุขภาพที่ดูแลแต่ละพื้นที่ ซึ่งประสบความสำเร็จ และจะเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลไปยังเครือข่ายอื่นๆต่อไป

เรียบเรียงโดย อาทิตยา ปักกะทานัง
รายงานโดย ณัฐพล ดีอุต