‘นวัตกรรมชุมชน’ ราชมงคลธัญบุรี ต่อยอดอาชีพ สร้างรายได้ยั่งยืน


นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า การเรียนการสอนโดยใช้ห้องเรียนชุมชนเป็นแหล่งในการค้นคว้าเรียนรู้ ทำให้สามารถมองเห็นสภาพชุมชนที่แท้จริง ปัญหาต่างๆที่มีอยู่และความต้องการของชุมชนมาเป็นโจทย์ให้นักศึกษาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน นอกจากนี้ นักศึกษายังได้บูรณาการเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ ได้รู้จักการทำงานเป็นทีม ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทรต่อสังคม เพราะฉะนั้น มทร.ธัญบุรีจึงได้สร้างรายวิชาใหม่ขึ้นมา คือ วิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน เข้าห้องเรียนเพียง 20% และอีก 80% ลงพื้นที่ชุมชน โดยเปิดทำการเรียนการสอนปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรก
ด้าน ผศ.สุมานิการ์ จันทร์บรรเจิด อาจารย์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า นวัตกรรมที่สร้างขึ้นโดยใช้กระบวนการความคิดคือ นักศึกษาต้องเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน นักศึกษาได้เรียนรู้จากการลงมือทำ ถูกฝึกฝนในการค้นคว้าหาข้อมูล เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกตและการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปของแผนที่ ปฏิทินชุมชน โครงสร้างองค์กรชุมชนและประวัติศาสตร์ชุมชน โดยผ่านกลไกการทำงานเป็นทีม นำข้อมูลมาบูรณาการด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์ ศึกษาความต้องการที่แท้จริงของชุมชนกับทรัพยากรที่มีอยู่ จนกลายเป็น “โมเดลต้นแบบของนวัตกรรม” ปัจจัยความสำเร็จของการเรียนวิชานี้ ไม่ได้ดูที่ผลคะแนนหรือความพึงพอใจของตัวผู้เรียน แต่ดูที่ชุมชนพึงพอใจแล้วสามารถนำไปต่อยอดได้ นั่นคือความสำเร็จ